TCAS รับตรง ทุน ทุนเรียนต่อต่างประเทศ ค่าย สอบราชการ ปริญญาโท-เอก

สร้างฝันไอดอลEP.2 ติดตามชีวิตจากเกมเมอร์สู่นักศึกษาแพทย์รามาธิบดี

สร้างฝันไอดอลEP.2 ติดตามชีวิตจากเกมเมอร์สู่นักศึกษาแพทย์รามาธิบดี

ก่อนที่คุยกับนักศึกษาแพทย์ พี่ได้รู้จักกับน้องนักศึกษาเภสัชคนหนึ่ง สวยมาก แต่สำหรับพี่เฉยๆนะ 555 ได้แนะนำให้พี่ได้รู้จักคนนี้ เราไม่เคยรู้จักเค้าเลย จะให้มาสัมภาษณ์ไหมเนี่ย ซึ่งนอกจากจะตกลงแล้วจากการเขียน เค้ามีทัศนคติที่ดีมากครับ

ก่อนที่น้องจะอ่านบทความนี้ พี่นัทอยากให้น้องเปิดเพลงนี้ไป ฉันทำได้ทุกอย่าง…เพื่อคนที่รัก Ost. Med in Love รักเธอคุณหมอฝึกหัด – กันอชิ แล้วอ่านไปนะครับ จะได้มีกำลังใจมากขึ้น และฝากซีรีย์หนัง Med in love รักเธอคุณหมอฝึกหัดด้วยนะครับ น้องจะได้รู้จักชีวิตหมอรามามากขึ้น โดยเรื่องนี้อ้างอิงจากเรื่องจริงนะครับ พี่นัทได้ดูแล้วถือว่าเป็นหนังที่ดีมากๆครับ

พี่นัท- สวัสดีครับ ช่วยแนะนำตัวเองพร้อมงานอดิเรกหน่อยครับ

พี่เนตร -สวัสดีครับ พี่ชื่อพงศ์ศิริ ชุติธนธีระกุล ชื่อเล่น เนตร ตอนนี้เรียนอยู่ปี 3 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

งานอดิเรกของพี่พูดไปแล้วจะเชื่อมั้ยนะว่า “เวลาว่างพี่จะ”เล่นเกม” พี่เป็นคนชอบเล่นเกมมากๆตั้งแต่เด็กแล้วครับแต่ก็ไม่ได้ติดเกมเหมือนในข่าวนะ 555 ช่วงนี้เกม Resident Evil 7 กำลังมาแรงพี่ก็เล่นแล้วอัดคลิปลงช่องยูทูปของพี่ด้วยนะ 55

 

หลายคนสงสัยว่าเล่นเกมแล้วติดหมอได้ยังไงใช่มั้ยครับ คำตอบคือ “แบ่งเวลา” น้องเล่นเกมได้

 

แต่อย่าให้เกมมาทำลายชีวิตน้อง กล่าวคือ น้องต้องคำนึงถึงเรื่องเรียนมาก่อนเรื่องเล่นเสมอ

 

ตอนม.ปลายพี่เล่นเกมก็จริง แต่พี่แบ่งเวลา วางแผนแล้วว่าการที่เราจะติดหมอ เราต้องทำอย่างไร พี่เป็นคนหัวไม่ดี(เรียนรอดด้วยเกรด3 ขึ้นตลอด) เมื่อพี่วางแผนแล้วจึงมีเวลาเหลือ พี่เลยพักผ่อนโดยการเล่นเกม สำหรับบางคนถ้าวางแผนแล้วเวลาไม่พอ ก็ต้องตัดเรื่องเกมออกไป อันนี้แล้วแต่คนนะครับ

 

พี่แค่อยากจะบอกว่าอย่าโทษเกมเลย คนสอบติดหมอเล่นเกมมีเยอะแยะ(แต่ไม่ใช่ว่าอยากสอบติดหมอต้องเล่นเกมเยอะๆนะครับ ไม่ใช่) เพื่อนพี่หลายคนเล่นเกมและเรียนเก่งด้วยก็มี(แต่ก็ไม่ทุกคนนะครับ)

มันอยู่ที่ตัวน้องว่าจะควบคุมตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ถ้าน้องรู้ตัวดีว่าเล่นแล้วหยุดไม่ได้ ก็อย่าเล่นดีกว่า เดี๋ยวจะมีผลเสียกับตัวน้องเองนะครับ

ติดตามผลงานพี่ได้ที่ แชแนลยูทูป สมเกษตร ชาวเกมเมอร์ โฆษณานิดนึง

 

พี่นัท -สอบติดด้วยวิธีไหนครับ ได้คะแนนเท่าไรครับ

พี่เนตร -สอบติดแพทย์โดยวิธีสอบ 7 วิชาสามัญ(ตอนปีพี่สอบยังเป็น 7 วิชาอยู่) ได้คะแนนรวมประมาณ 70.6

สรุปที่พีจำได้นะ เกือบทุกวิชา จะได้คะแนน 70 ขึ้น ยกเว้นสังคม ได้ 50 นิดๆ ความถนัดได้ 21 % ครับ

 

พี่นัท เตรียมตัวตั้งแต่ตอนไหน เตรียมตัวอย่างไรครับบ้าง เรียนพิเศษไหม

พี่เนตร -เตรียมตัวตั้งแต่ตอนไหนเหรอ จริงๆพี่เตรียมตัวจริงๆจังๆตอนปิดเทอมม.5 ขึ้น ม.6 เพราะก่อนหน้านี้พี่อยากได้เวลาใช้ชีวิตวัยรุ่นให้พอก่อน โรงเรียนมีกิจกรรมที่มีแค่ครั้งเดียวในชีวิตเช่น กีฬาเตรียมอุดม-เตรียมทหาร งานคืนสู่เหย้าศิษย์เก่าเตรียมฯ เป็นต้น พี่จึงเลือกที่จะทำกิจกรรมก่อน

เตรียมตัวอย่างไร ต้องบอกก่อนเลยว่าพี่เป็นคนที่เรียนพิเศษเยอะมากๆๆๆๆๆ

วันธรรมดาโรงเรียนเลิกบ่าย 3 โมงบ่าย 4 โมง พี่ต้องมาเรียนพิเศษต่อถึงประมาณสามทุ่มเกือบทุกวัน

วันเสาร์อาทิตย์พี่เรียนพิเศษตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึงเคยดึกที่สุดก็ 5 ทุ่ม(อันนี้เรียนตัวต่อตัวนะครับ)

พี่เรียนวิชาละประมาณ 2-3 ที่ นี่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่จำเนื้อหาที่เรียนได้แม่นโดยกลับมาอ่านซ้ำแค่ไม่กี่รอบ แต่เรื่องนี้ก็แล้วแต่คนนะครับ เพื่อนพี่หลายคนก็บอกว่ายิ่งเรียนพิเศษเยอะ ยิ่งเหนื่อย ยิ่งจำอะไรไม่ได้ น้องต้องหาวิธีที่เหมาะกับตัวน้องเอง ที่จะทำให้น้องเข้าใจบทเรียนได้มากที่สุด

พี่นัท-วิชาไหนที่ไม่ชอบตอนมปลายที่สุด ปรับปรุงตัวเองอย่างไง เพราะหมอต้องได้ทุกวิชาจริงไหนค่ะ

พี่เนตร – วิชาที่ไม่ชอบตอนม.ปลายพูดแล้วจะตกใจ พี่เป็นคนที่ไม่ชอบวิชา”ชีววิทยา”เลยนะครับ 555 เพราะคุณพ่อพี่เป็นวิศวกร และมักจะปลูกฝังให้พี่เป็นคนมีเหตุผล ซึ่งวิชาชีววิทยาเป็นวิชาท่องจำในตอนม.ปลาย

 

เพราะเหตุผลหลายอย่างลึกเกินกว่าที่ม.ปลายจะเรียนได้ ต้องมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

แต่พี่ชอบวิชาคณิตศาสตร์กับฟิสิกส์มากๆ(ทำไมพี่ไม่เข้าวิศวะเนอะ 555)

เพราะสองวิชานี้เป็นวิชาที่ตายตัวและง่าย(พ่อพี่มักบอกกับพี่เสมอว่า “คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ง่าย 1+1 = 2 คณิตศาสตร์มีคนสอบได้เต็มทุกปี

ถ้าใครว่าวิชาชีววิทยาง่าย ทำไมไม่เคยมีใครสอบได้ชีวะเต็มเหมือนคณิตศาสตร์กับฟิสิกส์หล่ะ (พี่ก็คิดว่า ก็จริง 555)

หมอต้องได้ทุกวิชาจริงไหม พี่คิดว่าถ้าได้ทุกวิชาก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะจริงๆแล้ว น้องต้องมีความพยายามและอดทน

ถึงน้องจะไม่เก่ง แต่เมื่อมาเรียนแพทย์แล้วน้องขยัน อดทน มีความพยายาม น้องก็ประสบความสำเร็จในการเรียนได้ บางคนเก่งแต่ขี้เกียจก็สอบไมผ่านได้เหมือนกัน

สรุป คุณลักษณะสำคัญของการเรียนแพทย์คือขยันและอดทนครับ เก่งไม่เก่งมันพัฒนากันทีหลังได้

 

พี่นัท-ตอนเลือกกสพท เลือกที่ไหนบ้าง และสอบติดอะไรบ้าง

พี่เนตร –ที่พี่เลือกนะ

อันดับ 1 เลือกรามาธิบดี

อันดับ 2 เลือกวชิระพยาบาล

อันดับ 3 เลือกแพทย์ มศว

อันดับ 4 เลือกแพทย์ม.นเรศวร

จริงๆคะแนนพี่สามารถเข้าศิริราชได้ แต่พี่ไม่เลือกศิริราชเพราะไกล(อยู่วังหลัง) และดูแล้วไม่น่าจะเหมาะกับบุคลิกพี่เท่าไหร่

 

ประกอบกับที่พักพี่อยู่ราชเทวี พี่ไม่เลือกแพทย์จุฬาเพราะเพื่อนพี่ม.ปลายห้องเดียวกับพี่ที่เก่งมากๆไปแพทย์จุฬากันหมด ถ้าพี่ไปจุฬาคงสู้พวกนั้นไม่ได้ 555 พี่เลือกรามาธิบดีเพราะมีหมอที่รู้จักจบรามาฯรุ่น 20(พี่รุ่น 50 นะน้อง) และโรงพยาบาลรามาฯอยู่ใกล้กับที่พักพี่ ไปเรียนสะดวก

 

 

พี่นัทนึกในใจ คะแนนน้องสอบจุฬาได้สบายเลยนะเนี่ย 

 

พี่นัท-ขอตารางการอ่านหนังสือหน่อยครับ

พี่เนตร –จริงๆพี่ไม่มีตารางอ่านหนังสือที่แน่นอนนะครับ พี่แค่คิดว่าวันไหนอยากอ่านก็อ่าน วันไหนไม่อยากอ่าน เพราะต่อให้ฝืนอ่านไปก็เข้าหัวอยู่ดี แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าไม่อยากอ่านไปซะทุกวันนะครับ(นั่นเรียกขี้เกียจ)

 

“น้องต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเอง กล่าวคือ น้องต้องตั้งเป้าหมายไว้”

สมมติว่า สัปดาห์นี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทบทวนแต่ละวิชาให้ได้กี่บท ทำข้อสอบเก่าได้กี่ข้อ แล้วน้องก็ต้องทำให้ได้แบบนั้น ไม่จำเป็นต้องอ่านหรือทำทุกวัน แต่เป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องบรรลุคือในสัปดาห์นั้นต้องเสร็จ

พี่นัท -วันที่ประกาศผลทำอะไรบ้าง

พี่เนตร –พี่จำได้ว่าตอนนั้นกลับบ้าน จ.อุบลราชธานี กำลังตัดหญ้าที่สวน 555 มีเพื่อนโทรมาบอกว่าดูคะแนนได้แล้ว พี่ก็เข้าไปดูตามปกติ(จริงๆพี่ก็พอจะรู้คะแนนตัวเองตั้งแต่สอบเสร็จแล้ว เพราะเช็คกับเพื่อนๆที่ทำได้ว่าข้อไหนเราทำผิดทำถูก พี่เลยไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่)

พอรู้ว่าได้คะแนน 70+ พี่ก็มันใจแล้วว่ายังไงก็ต้องติดแพทย์แน่นอนไม่คณะใดก็คณะหนึ่ง

 

 

พี่นัท -คำถามที่สัมภาษณ์และกิจกรรมวันสอบสัมภาษณ์ทำอะไรบ้าง

พี่เนตร –ที่รามาฯคือจะมีอาจารย์แพทย์ 3 คน ถามคำถามน้อง

ไม่ได้ถามเรื่องวิชาการหรอกครับ แต่จะถามเพื่อดูทัศนคติของน้อง ว่าน้องเป็นคนเห็นแก่ตัวมั้ย น้องจะเข้ากับคนอื่นได้รึเปล่า น้องจะเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคตมั้ย

เพราะเดี๋ยวนี้มีกระแสแพทย์แย่ๆออกข่าวเยอะ น้องก็ไม่ต้องเกร็งหรือเตรียมบทพูดไปก็ได้ครับ พูดออกไปในสิ่งที่น้องเป็นจะดีที่สุด น้องปิดบังหมอไม่ได้หรอก และถ้ากรรมการจับได้ว่าน้องโกหก อาจไม่เป็นผลดีต่อน้องก็ได้นะครับ

 

พี่นัท -กิจกรรมการรับน้องในช่วงปี1 มีอะไรบ้างครับ

พี่เนตร –สำหรับคณะพี่ก็คล้ายๆกับคณะอื่นคือมีกิจกรรมห้องเชียร์ แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องเข้าทุกคน พี่เลยไม่เข้า เพราะพี่ไม่ชอบอะไรที่ไม่มีเหตุมีผล

สำหรับพี่ การที่มีรุ่นพี่มาตะโกน หรือสั่งลงโทษแบบไม่มีเหตุผล มันไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากห้องเชียร์แล้วก็มีการแสดงของแต่ละชั้นปีตั้งแต่ปี 2 ถึงปี 5 (ปี 6 ไปต่างจังหวัดแล้วและงานเยอะเลยไม่ได้มา)ซึ่งก็แตกต่างกันออกไป ช่วงนี้สนุกมาก

 

พี่นัท -ชีวิตมปลายกะชีวิตมหาวิทยาลัยต่างกันไหม ปรับตัวอย่างไรครับ

พี่เนตร –ต่างกันอย่างมากครับ ม.ปลายน้องจะมีคนคอยนำทางในการอ่านหนังสือเช่น สอนเท่าไหร่ก็ออกข้อสอบเท่านั้น มีอาจารย์กวดวิชาคอยเก็งข้อสอบ ให้คำแนะนำโดยที่น้องไม่ต้องหาเอง

แต่การเรียนมหาวิทยาลัยคือ อาจารย์มหาลัยจะสอนแค่หัวข้อเกริ่นๆและสอนเร็วมากๆๆ(เพราะเนื้อหาเยอะมาก) ไม่มีการเรียนกวดวิชา

ไม่มีคนมานำทางน้องว่าต้องอ่านตรงไหน น้องต้องอ่านเองทั้งหมด

 

บางทีไม่เข้าใจน้องก็ต้องหาแหล่งข้อมูลอื่นๆเช่น อินเทอร์เน็ตเว็ปที่เชื่อถือได้ หนังสือ Textbook ยิ่งการเรียนในคณะแพทย์แล้วด้วย น้องจะมีความรู้สึกเหมือนต้องสอบ Entrance ทุกเทอม คือเนื้อหามันเอยะมาก และค่อนข้างยากเพราะน้องไม่เคยเรียนมาก่อน

 

ยกตัวอย่างเช่น ม.ปลายน้องเรียนว่าโรคฮีโมฟีเลียคือโรคที่ถ่ายทอดทางโครโมโซมเพศ จบแค่นี้ แต่เมื่อน้องมาเรียนที่คณะแพทย์น้องต้องรู้ว่าโรคนี้แบ่งเป็นกี่ชนิด แตกต่างกันอย่างไร ใช้ค่าอะไรในการตรวจเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้และเป็นชนิดไหน การรักษาต้องทำอย่างไร ซึ่งเยอะมากๆ น้องต้องหาอ่านเองเกือบทั้งหมด ดังนั้น การเรียนมหาลัยคือพึ่งพาตัวเอง 90% พึ่งพาคนอื่น 10% น้องจะเรียนแบบที่เรียนตอนม.ปลายไม่ได้อีกแล้วนะครับ

 

พี่นัท-ช่วงเวลาปี1 กะ 2เหมือนกันไหม ต่างกันไงครับ ได้ยินมาว่าต่างกันมาก

พี่เนตร –ปี 1 เป็นช่วงเวลาที่น้องๆทุกคนสดใสเพราะเพิ่งผ่านการสอบชี้ชะตาชีวิตไป ทุกคนก็จะลั้นลา นักศึกษาส่วนใหญ่จะใช้เวลาปี 1 เพื่อพักผ่อน หาเพื่อน เที่ยว  แต่พี่คิดว่า ปี 1 เป็นปีที่น้องควรจะเก็บเกรดเฉลี่ยไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะปี 1 ยังคงมีเนื้อหาที่เรียนบางส่วนเกี่ยวข้องกับวิชาม.ปลายเช่นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ

 

เพราะเมื่อน้องขึ้นมาปี 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาแพทย์ น้องต้องเรียนกายวิภาคศาสตร์(ผ่าอาจารย์ใหญ่) น้องจะได้เจอเนื้อหาที่น้องไม่เคยรู้มาก่อน และเยอะมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ คณะพี่เรียนร่างกายเป็นส่วนๆเช่น กล้ามเนื้อหลัง แขนขา หัวใจ ทางเดินอาหาร เป็นต้น (ส่วนหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์)ของร่างกายแล้วสอบแล้วตัดเกรดเลย สรุปแล้วสอบเก็บคะแนนทุกๆ 2 สัปดาห์ เสมือนว่าน้องต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาลัยทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่น้องไม่ได้มีเวลาว่างเท่าตอนอยู่ม.ปลาย เพราะการเรียนผ่าอาจารย์ใหญ่แต่ละครั้งบางครั้งเรียนเลิก 6 โมงเย็น บางครั้งเลิก 1 ทุ่ม ประกอบกับการเรียนที่เหนื่อยล้ามากๆ น้องแทบจะไม่มีอารมณ์อ่านหนังสือเลย แต่น้องก็ต้องอ่านเพราะต้องสอบในอีก 2 สัปดาห์

 

การเรียนในปี 2 จึงนับได้ว่าโหดที่สุดในชีวิตนักศึกษาแพทย์เลยก็ว่าได้ แต่ถ้าน้องผ่านมันมาได้ น้องจะแข็งแกร่ง 555 นอกจากกายวิภาคศาสตร์แล้ว น้องต้องเรียนเกี่ยวกับสรีรวิทยา คือการทำงานของระบบร่างกาย และเนื้อเยื่อวิทยาคือการส่องดูเซลล์ในแต่ละอวัยวะ ซึ่งปี 2 ยังได้ดูแค่เซลล์ที่ปกติ(แต่ก็ยากมากแล้ว) แต่เมื่อขึ้นมาอยู่ปี 3 น้องจะได้เรียนพยาธิวิทยา(อ่านว่า พะ-ยา-ทิ-วิด-ทะ-ยา)คือความผิดปกติ น้องต้องแยกเซลล์ปกติกับเซลล์ผิดปกติออกจากกันให้ได้ ต้องวิเคราะห์ได้ว่าเป็นโรคอะไร มีการดำเนินโรคหรืออาการอย่างไร จะรักษาอย่างไร

ตำราเรียนดูไม่เยอะเท่าไรใช่ไหมครับ

 

 

พี่นัท -อยากให้เล่าช่วงที่เรียน ปี1-3 เรียนอะไรบ้าง ขอละเอียดสุดๆ แบ่งเป็นเทอมได้ยิ่งดีนะครับ

พี่เนตร –ปี 1 เรียนวิชาคล้ายม.ปลายคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิชาโครงงาน เนื้อหาก็คล้ายๆของม.ปลายแต่จะลงรายละเอียดลึกลงไปจากม.ปลายพอสมควรเช่น วิชาฟิสิกส์น้องจะต้องเอาแคลคูลัสมาใช้ในการคำนวณด้วย วิชาเคมีน้องเรียนลึกกว่าเดิมมากๆ เป็นต้น แต่ก็พอจะเข้าใจง่ายที่กว่าเนื้อหาปีอื่นๆ และเกรดน้องก็จะได้ง่ายเพราะมีวิชาอื่นคอยช่วยน้อง เก็บเกรดไว้เยอะๆดีที่สุดนะครับ

ปี 2 น้องกลัวผีหรือกลัวศพกันมั้ยนะ ห้ามกลัว 55 เพราะน้องต้องเรียนกายวิภาคศาสตร์(ผ่าอาจารย์ใหญ่) คือจะแบ่งน้องออกเป็นโต๊ะ แต่ละโต๊ะจะมีอาจารย์ใหญ่ให้โต๊ะละ 1 ท่าน น้องกำลังเรียนบทไหนอยู่ น้องก็ต้องผ่าส่วนนั้นของอาจารย์ใหญ่เพื่อดูว่าของจริงเป็นอย่างไร อยู่บริเวณไหน วางตัวอย่างไร มีเส้นประสาทเส้นเลือดอะไรมาเลี้ยง น้องต้องจำทั้งหมด เพราะการสอบจะมีทั้งปรนัย 5 ตัวเลือก(ข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด) และสอบภาคปฏิบัติที่เรียกว่า”แลปกริ๊ง” คือจะมีข้อสอบ 30-40 ข้ออยู่เป็นฐานๆ ให้เวลาข้อละประมาณ 1 นาที เมื่อหมด 1 นาทีจะมีเสียงกริ่งดัง น้องต้องเปลี่ยนฐานไปเรื่อยๆจนกว่าจะทำครบทุกข้อและต้องส่งข้อสอบ สรุปคือ เมื่อน้องเห็นคำถามซึ่งก็อาจเป็นชิ้นส่วนที่ผูกไว้คืออะไร มีเส้นประสาทอะไรมาเลี้ยง มีเส้นเลือกอะไรมาเลี้ยง บางทีเอากระดูกมาวางไว้ปิดเทปสีแดงแล้วถามว่า กล้ามเนื้ออะไรมีการเกาะตัวกับกระดูกตามแนวเทปสีแดง น้องต้องแม่นตำแหน่งและเนื้อหามากๆจึงจะทำข้อสอบแบบนี้ได้ เมื่อจบการเรียนกายวิภาคแล้วจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพให้แก่อาจารย์ใหญ่

นอกจากกายวิภาคแล้วน้องก็ต้องเรียนสรีรวิทยาคือการทำงานของร่างกายว่ามีกลไกการทำงานอย่างไร ข้อสอบส่วนนี้เป็นปรนัย 5 ตัวเลือกรวมภาคปฏิบัติ  เรียนเนื้อเยื่อวิทยาดูเซลล์ ย้อมสีเซลล์ ข้อสอบก็เป็นแลปกริ๊งและปรนัย 5 ตัวเลือก คือเปลี่ยนจากดูอาจารย์ใหญ่มาดูกล้องจุลทรรศน์ สอบต่อจากสอบกายวิภาคเพราะฉะนั้นน้องจะตาลายมาก 555

ปี 3 น้องจะได้เรียนเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย น้องเคยเรียนตอนม.ปลายว่าเม็ดเลือดขาวมีกี่ชนิด แต่เมื่อน้องอยู่ปี 3 น้องต้องรู้ว่าแต่ละชนิดเกิดมาได้อย่างไร ทำงานอย่างไร ใช้สารอะไรในการทำงาน จะยับยั้งเม็ดเลือกขาวตัวนี้ต้องทำอย่างไร

เรียนเกี่ยวกับจุลชีววิทยาคือแบคทีเรีย รา ไวรัส โปรโตซัว พยาธิ แมลง สัตว์มีพิษทั้งหลาย ต้องจำชื่อสปีชี่(เช่น malassezia furfur คือเชื้อราเกลื้อน ยุงลายบ้านที่น้องตบมันอยู่ทุกวันคือ Aedes aegypti เป็นต้น มีแต่ชื่อเท่ๆทั้งนั้น)ซึ่งมีอยู่ประมาณ 800 ล้านชื่อ 555 ล้อเล่นนะครับ แต่ก็มีเยอะอยู่

 

เรียนพันธุศาสตร์เชิงลึกคล้ายๆกับที่พี่กล่าวมาในข้อ 10 เทอม 2 น้องจะเรียนวิชาที่เข้าใกล้กับการเป็นแพทย์คือวิชาพาโถหรือวิชาพยาธิวิทยา(อ่านว่า พะ-ยา-ทิ-วิด-ทะ-ยา) น้องจะได้เรียนเกี่ยวกับความผิดปกติ โรคต่างๆของมนุษย์

 

นอกจากนี้น้องจะได้เรียนเวชศาสตร์ชุมชน วิชานี้น้องต้องเรียนเกี่ยวกับการคำนวณทางการแพทย์เกี่ยวกับการระบาดของโรค ประสิทธิภาพยาใหม่ที่ทดลอง คำนวณสถิติการเกิดโรค วธีบริหารเงินของโรงพยาบาล และการดูแล ส่งเสริมสุขภาพชุมชน โดยน้องต้องออกภาคสนาม ไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านในต่างจังหวัด เรียนรู้วิถีชีวิต และแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน(ได้เที่ยวไปในตัว) สถานที่ที่น้องจะไปก็แล้วแต่ว่าสุ่มได้ที่ไหนนะครับ พี่ได้ไป อ. ด่านซ้าย จังหวัดเลย สนุกมากครับ วิชาสุดท้ายเรียกว่าอินโทรเมด คือการเรียนวิธีการซักประวัติคนไข้ การตรวจคนไข้ การเขียนสั่งจ่ายยา การตรวจร่างกายเบื้องต้น การเข้าห้องผ่าตัดว่าต้องทำอย่างไร ข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับการเป็นแพทย์(มีคณบดีมาสอนด้วยนะวิชานี้)ซึ่งจะทำให้น้องได้เรียนรู้การเป็นแพทย์ก่อนขึ้นปี 4 เพื่อตรวจคนไข้จริง

 

นอกจากนี้แล้ว นักศึกษาแพทย์ปี 3 ทุกคน ต้องสอบวัดความรู้ความสามารถวิชาชีพแพทย์ครั้งที่ 1 หรือที่เรียกกันว่า NL1 สอบเพื่อวัดความรู้ว่าน้องมีความรู้พอที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพแพทย์เพื่อไปทำงานเป็นแพทย์หลังเรียนจบหรือไม่

โดยการสอบนี้จะมีทั้งหมด 3 ครั้งแบ่งเป็น ครั้งที่ 1 สอบตอนจบปี 3 ข้อสอบเป็นปรนัย 5 ตัวเลือก 300 ข้อวัดความรู้ปี 1-3 ส่วนการสอบ 2 ครั้งที่เหลือคือสอบครั้งที่ 2 ตอนปี 5 ครั้งที่ 3 ตอนปี 6

ซึ่งพี่ยังไม่มีข้อมูล ถ้าสอบไม่ผ่าน น้องสามารถสอบใหม่ได้ในปีถัดไปครับ การสอบ NL นี้จะอยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายนของทุกปี แต่จะรับสมัครช่วงสิ้นปีก่อนสอบถึงต้นปีที่จะสอบ

 

พี่นัท เวลาฝึกงาน ที่นี้ฝึกอย่างไร ฝึกที่ไหน ฝึกปีไหนบ้าง 

ฝึกงานตอนปี 6 ขึ้นไปครับ ซึ่งพี่ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ เลยไม่อยากบอกไปเพราอาจผิดได้ ขอโทษด้วยนะครับ

พี่นัท อยากให้พี่ฝากอะไรถึงน้องๆที่อยากเข้าหมอ หรืออยากเข้ามหิดลหน่อยครับ

พี่เนตร -อยากให้น้องๆทุกคนสู้ๆ ตั้งใจเรียน ขยัน แต่ก็พักผ่อนบ้างนะครับ พี่เคยผ่านจุดเดียวกับน้องๆทุกคนมาก่อน พี่เข้าใจความรู้สึก ความเหนื่อย ความท้อของทุกคนเพราะพี่เองก็เคยเป็น พี่อยากจะบอกน้องๆว่า น้องเหนื่อยได้ น้องท้อได้ แต่น้องยอมแพ้ไม่ได้ เพราะการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือการกำหนดอนาคตของชีวิต ต้องจริงจัง

ถ้าน้องตั้งใจทำเต็มที่แล้ว พี่เชื่อว่าผลที่ออกมาก็จะเป็นไปตามที่น้องหวังไว้แน่นอน

 

สำหรับพี่ การมาเรียนที่มหิดลให้ประสบการณ์ชีวิตหลายๆอย่าง ให้พี่ได้รู้จักกับเพื่อนต่างโรงเรียนแต่เมื่อมาอยู่คณะเดียวกันแล้ว ทุกคนคือเพื่อนกัน การเรียนคณะแพทย์ไม่ว่าที่ไหน พี่เชื่อว่าทุกที่สอนให้น้องจบเป็นแพทย์ที่เก่งได้ แต่จะเป็นแพทย์ที่ดีได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ตัวน้องเอง

 

ก่อนที่น้องจะตัดสินใจมาเรียนแพทย์หรือเป็นแพทย์ในอนาคต น้องต้องถามตัวเองก่อนว่าน้องพร้อมที่จะให้ความสำคัญของคนอื่นมาก่อนตัวน้องเองหรือไม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีมักจะปลูกฝังอยู่เสมอว่า แพทย์คือผู้เสียสละ น้องเป็นแพทย์ เมื่อเทียบกับเพื่อนคณะอื่น น้องอาจไม่มีเวลามากเหมือนคนอื่น

 

แต่พี่เชื่อว่า การเป็นแพทย์คือการได้ทำบุญ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ พี่ว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆเลยนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอให้น้องๆโชคดีในการสอบ สมหวังในทุกคณะที่น้องอยากจะเข้าไม่ว่าสายวิทย์หรือสายศิลป์ ถ้าน้องได้เข้ามาเรียนที่คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พี่ๆพร้อมจะต้อนรับและดูแลน้องๆทุกคนนะครับ หวังว่าเราจะได้พบกันนะครับ

 

สร้างฝันไอดอลep.1 ตอน.ติดตามชีวิตหมีแพนด้านักศึกษาพยาบาล  คลิกที่นี้  ⇐

———————————————————————————————

คลิกช่องทางการติดต่อ

ติดตามข่าวทางline คลิกที่นี้

พี่นัทแนะนำน้อง
เราอยากสอบเข้าอะไร เราฝันได้นะครับ แต่ต้องมีความพยายามด้วย ไม่อย่างงั้น น้องคงได้แค่ฝันแน่นอน

Exit mobile version